เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 เมษายน ที่กองอำนวยการร่วม สน.บางซื่อ ภายในห้างสรรพสินค้า JJ Mall นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ ปลัด กทม. ผู้อำนวยการเขตจตุจักร และผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มจากแผ่นดินไหว
นายชัชชาติระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังเข้าไม่ถึงจุดที่พบสัญญาณชีพ เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางเป็นโครงสร้างเหล็กและโพรงแคบ แม้จะเร่งนำเศษซากปูนออกไปแล้วกว่า 20 ตันเมื่อวานนี้ แต่ซากทั้งหมดคาดว่ามีน้ำหนักรวมกว่า 40,000 ตัน โดยการรื้อถอนอาจใช้เวลา 30-60 วัน เพราะต้องทำไปพร้อมกับการค้นหาผู้ติดค้าง จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
ปฏิบัติการใช้เครื่องจักรหนัก เช่น แบ็กโฮ และเครื่องตัดโครงสร้าง พร้อมทีมกู้ภัยที่เตรียมความพร้อมตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ทีมตรวจพิสูจน์หลักฐานก็อยู่ระหว่างเก็บรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม โดยเมื่อวานนี้พบโพรงขนาดใหญ่บริเวณโซน C คาดว่าเป็นโถงลิฟต์ ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย แต่ยังไม่สามารถนำออกมาได้เนื่องจากมีโครงสร้างอาคารทับอยู่ การปฏิบัติงานจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันการพังถล่มเพิ่มเติม
แม้จะยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ติดค้างเพิ่มเติมได้ แต่นายชัชชาติยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่เสียขวัญ กำลังใจของพวกเขามาจากการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเมื่อวานนี้ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เข้าพูดคุยเพื่อแนะนำเทคโนโลยีช่วยเหลือ ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้เป็นกรณีแรกของโลก ไม่มีคู่มือใดกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ตายตัว
สำหรับกรณีการใช้สุนัข K-9 ตรวจสอบพื้นที่เมื่อช่วง 03.30 น. ที่ผ่านมา นายชัชชาติชี้แจงว่า เป็นขั้นตอนปกติที่เมื่อใช้เครื่องจักรหนักเสร็จสิ้น จะส่งทีมกู้ภัยและ K-9 เข้าสำรวจซากอาคารเพื่อตรวจหาสัญญาณชีพหรือร่างผู้เสียชีวิต
ด้านนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. ขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่เผยแพร่ข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิด หลังพบว่าในโซเชียลมีการแชร์ภาพเหตุการณ์จากต่างประเทศมาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์นี้
ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ขณะนี้ทีมจิตแพทย์แบ่งเป็นสองกลุ่มเพื่อดูแลญาติผู้สูญหายและผู้บาดเจ็บจากการกู้ภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยญาติบางส่วนเริ่มมีความเครียดและเกิดความหวังสลับกับความผิดหวังเมื่อเห็นเครื่องจักรทำงานเป็นระยะ และบางคนเริ่มเปลี่ยนคำถามจาก “ยังมีโอกาสรอดหรือไม่” เป็น “หากเสียชีวิตแล้วควรทำอย่างไร”