ชุดที่นักกีฬาไทยจะใช้ใส่ไปแข่งโอลิมปิก 2024 นี้ ได้นำลวดลายมรดกโลกบ้านเชียงมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมไทยกับความเป็นสากล
ทีมออกแบบได้ทำการวิจัยค้นคว้าอย่างละเอียด ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รวมทั้งได้ขอข้อมูลและคำแนะคำจากพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง กรมศิลปากร และชาวชุมชนบ้านเชียงที่ยังสืบสานการทอผ้า การย้อมคราม และทำเครื่องปั้นดินเผาลายบ้านเชียง
หลังจากรวบรวมข้อมูล ทีมงานได้นำลวดลาย สีผ้าคราม และความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ออกแบบชุดสำหรับการแข่งขัน และการเดินทางให้ดูทันสมัย เหมาะกับเวทีระดับโลก
นอกจากนี้ยังได้นำนวัตกรรมเสื้อโปโลรีไซเคิลจากขวดพลาสติกมาใช้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ชุดนักกีฬาชุดนี้จึงเป็นมากกว่าเครื่องแต่งกาย แต่เป็นตัวแทนของการผสมผสานระหว่างอดีตกับอนาคตที่ยั่งยืน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย พร้อมกับการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับ น.ส.กนกวลี สุริยะธรรม ผอ.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งได้เปิดเผยว่า การออกแบบชุดกีฬาของทีมชาติไทยในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับการประสานจากผู้ออกแบบและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการขอข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียง ความเป็นมา และรายละเอียดเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปะต่างๆ แนวคิด ความหมายที่ปรากฏอยู่บนโบราณวัตถุ จนได้นำเอาข้อมูลไปประยุกต์รวบรวมกัน ก่อนที่ผู้ออกแบบจะนำลงไปใส่ในเสื้อผ้าของนักกีฬา
ลวดลายที่ปรากฏอยู่บนโบราณวัตถุ และภาชนะวัตถุดินเผา ทำให้คนรู้จักวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรูปทรงเรขาคณิต ภาพเล่าเรื่องต่างๆ รูปสัตว์ หรืออาจจะเป็นภาพเสมือนจริง ซึ่งลวดลายต่างๆ พวกนี้อาจจะเล่าถึงสภาพแวดล้อม หรือรูปสัญลักษณ์บางอย่างที่อาจจะสื่อถึงนามธรรม เช่น วิญญาณ หรือสื่อถึงธรรมชาติ เช่น น้ำ ไฟ ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้เหมือนกับเป็นแรงบันดาลใจ ที่สามารถนำมาต่อยอดหรือถ่ายทอด
การออกแบบลงบนผ้าก็จะออกแบบมาเหมือนกับลายปัจจุบัน เช่น ลายหมักจับ ลายใบสิม ลายนาคเกี้ยว และลายโคม ซึ่งเป็นลวดลายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันแล้วก็ความเชื่อของคน เพราะฉะนั้น การนำเอาองค์ความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องลวดลายของคนในสมัยก่อนประวัติ มาผนวกเข้ากับองค์ความรู้และวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ยังคงทอผ้าใช้อยู่ ถือเป็นการเชื่อมเรื่องในประวัติศาสตร์เข้ากับสมัยปัจจุบัน
การที่นำวัฒนธรรมบ้านเชียงออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้มุมมองไม่ได้อยู่ในเพียงแค่โบราณคดี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือว่าเรื่องของชุมชนเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มันสามารถนำไปสู่ทางด้านแฟชั่นทางการกีฬาได้ ทำให้พี่น้องชุมชนในบ้านเชียงรู้สึกภาคภูมิใจ
ด้าน น.ส.บุษราภรณ์ อายุ 45 ปี ชาวบ้านเชียง เปิดเผยว่า ตนในฐานะคนบ้านเชียงก็รู้สึกดีใจจนไม่รู้จะอธิบายยังไง ตื้นตันใจ และนึกไม่ถึงว่าลายบ้านเชียงจะไปอยู่ในเสื้อผ้ากีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคนในชุมชนก็ดีใจมากเช่นกัน เพราะปกติจะมีไลน์กลุ่มเอาไว้คุยกัน ต่างพากันแชร์ข่าวมาให้ดู ว่าบ้านเชียงจะได้ไปโชว์สายตาชาวโลก
“ขอบคุณมากที่เห็นความสำคัญของลายบ้านเชียง จากนี้คงจะโด่งดังไปแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งลายบ้านเชียงก็เป็นจุดเด่นอยู่บนภาชนะดินเผาอยู่แล้ว และยิ่งมาเห็นว่าลายบ้านเชียงจะได้ไปโชว์สายตาชาวโลกยิ่งทำให้ภูมิใจมากขึ้น”